ไฟเตือนเครื่องยนต์ คือ ไฟที่แสดงสัญญาณจาก ECU รถว่ามีปัญหาอะไรสักอย่าง โดยปกติแล้วเมื่อรถติดเครื่องแล้ว ECU จะทำการตรวจสอบทวนสัญญาณกับทุกอุปกรณ์ในระบบว่ายังทำงานปกติดีอยู่หรือเปล่า
ถ้าไฟเครื่องยนต์ติดกระพริบขณะที่ขับรถอยู่ให้รีบทำการหยุดรถ(ในที่ปลอดภัย)ทันที แล้วทำการติดต่อรถลากเข้าอู่หรือศูนย์บริการเพื่อตรวจสอบ หากยังฝืนขับต่อ เครื่องยนต์หรืออุปกรณ์ที่สำคัญในรถอาจจะเสียหายหนักจนต้องยกเครื่องใหม่เลยก็ได้
แต่ถ้าไฟเครื่องยนต์แค่ติดค้าง กรณีนี้ถือว่ายังไม่ร้ายแรง ยังพอสามารถขับรถต่อไปได้ แต่ก็ควรตรวจเช็คเพิ่มเติมเพื่อแก้ไข
โดยทั่วไปแล้วสาเหตุที่ส่งผลให้ไฟเตือนเครื่องยนต์ติดมักเกิดจากอุปกรณ์ส่วนใหญ่ดังต่อไปนี้
- Catalytic converter ซึ่งมีหน้าที่หลักคือการแปลงสสารของก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซต์หรือสารพิษอื่นๆให้ลดทอนลงด้วยความร้อนสูงๆ รวมถึงเผาไหม้ตะกอนต่างๆอีกด้วย ดังนั้นถ้ามีไฟเตือนเครื่องยนต์ติดจากแคตฯก็จะส่งผลให้ครื่องยนต์ไม่มีกำลังและกินน้ำมัน (อ่านเทคนิคการดูรักษาแคตฯได้จากบทความ “7 เหตุผลที่ทำให้แคตตาไลติกกลับบ้านเก่าก่อนกำหนด”)
- Mass Airflow Sensor (MAF sensor) เป็นอุปกรณ์ที่วัดปริมาณอากาศที่เข้าสู่ระบบแล้วส่งข้อมูลไป ECU เพื่อประมวลผลฉีดน้ำมันให้เหมาะสมกับการเผาไหม้กับปริมาณอากาศที่เข้ามา ส่วนใหญ่แล้วโอกาสที่เซ็นเซอร์จะเสียนั้นพบไม่ได้บ่อย แต่ถ้าเซ็นเซอร์ทำงานผิดเพี้ยน ต้นเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากกรองอากาศที่ตันหรือสกปรกซึ่งไม่ได้รับการเปลี่ยนใหม่มากกว่า อาการที่จะตามมาก็คือเครื่องกระตุกสะดุด ไม่มีกำลัง (อ่านบทความเกี่ยวการเปลี่ยนกรองอากาศได้ที่ “การเปลี่ยนกรองอากาศไม่ได้ช่วยให้ประหยัดน้ำมันขึ้น!”)
- เมื่อลืมปิดฝาถังน้ำมันหรือปิดไม่สนิท จะส่งผลให้แรงดันในระบบไม่เพียงพอ ซึ่งในรถบางรุ่นนอกจากจะทำให้ไฟเครื่องยนต์โชว์แล้ว ยังทำให้รถกินน้ำมันและปล่อยมลพิษมากกว่าปกติอีกด้วย
- ออกซิเจนเซ็นเซอร์ในท่อไอเสีย นอกจากจะช่วยรักษาส่วนผสมของอากาศกับน้ำมันในเครื่องยนต์ให้ถูกต้องเหมาะสมส่งผลให้ไม่มีน้ำมันส่วนเกินหลุดไปเผาไหม้ที่แคตฯแล้ว ยังเป็นอีกอุปกรณ์ที่ช่วยตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของแคตฯ ถ้าเซ็นเซอร์ตัวนี้เสีย ก็จะส่งสัญญาณเป็นไฟเตือนเครื่องยนต์ที่หน้าปัด
- หัวเทียนเสื่อมสภาพหรือชำรุด เพราะหัวเทียนมีหน้าที่หลักในการเผาไหม้ส่วนผสมของอากาศกับน้ำมัน เมื่อทำงานไม่สมบูรณ์ก็จะแจ้งECU ให้โชว์ไฟเตือนที่หน้าปัดรถเช่นกัน (อ่านบทความเกี่ยวกับการทำงานของหัวเทียนเพิ่มเติมได้ที่ “บทความเดียวจบ! รวมความรู้เรื่องของการจุดระเบิด, เครื่องน็อค และ EGR!”)
อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจสอบอุปกรณ์ข้างต้นแล้วยังไม่พบต้นเหตุที่ทำให้ระบบแสดงสัญญาณไฟเตือนเครื่องยนต์ แนะนำให้ทำการตรวจสอบเชิงลึกได้จากการต่อ OBD2 เพื่ออ่านค่า code จาก ECU เพื่อวิเคราะห์ต่อไป
