6 สัญญาณ 4 เทคนิคดูแลปั๊มติ๊กให้อยู่คู่รถนานๆ

ปั๊มติ๊กจะจุ่มอยู่ในถังน้ำมันเพื่อดูดน้ำมันเชื้อเพลิงจากถังน้ำมันส่งให้ระบบเพื่อทำการเผาไหม้ ปัจจุบันปั๊มติ๊กถูกขับด้วยเฟือง/มอเตอร์ไฟฟ้า โดยปั๊มติ๊กจะทำงานคู่กับกรองน้ำมันเบนซินและเรกกูเรเตอร์เพื่อกรองน้ำมันและควบคุมแรงดันน้ำมันก่อนส่งเข้ารางหัวฉีด

สาเหตุที่เรียกว่า “ปั๊มติ๊ก” เนื่องจากปั๊มติ๊กสมัยก่อนจะใช้หลักการขดลวดแม่เหล็กไฟฟ้าในการดันไดอะแฟรม(ภายในปั๊มติ๊ก)เพื่อสูบจ่ายน้ำมันจึงมีเสียง “ติ๊ก” เนื่องจากเครื่องยนต์สมัยก่อนใช้คาร์บูเรเตอร์ที่ใช้ความดันในระบบไม่ค่อยสูงแค่ 10-15 psi ปั๊มติ๊กซึ่งทำงานแบบกลไกล(อาศัยหลักกลศาสตร์)ด้วยไดอะแฟรมนี้จึงมีแรงเพียงพอในการสร้างความดันให้กับระบบ แต่เครื่องยนต์ปัจจุบันที่ใช้ระบบหัวฉีดซึ่งต้องการแรงดันที่สูงขึ้น จึงต้องเปลี่ยนเป็นปั๊มระบบไฟฟ้า (แรงดัน 40-50 psi) ซึ่งปั๊มแบบนี้จะมีแรงในการดูดน้ำมันต่ำแต่มีแรงฉีด(ส่ง)สูง จึงต้องติดตั้งปั๊มในถังน้ำมัน ถ้าปั๊มติ๊กแบบเก่าจะมีแรงดูดสูงแต่แรงฉีดต่ำจึงติดใกล้ๆเครื่องยนต์ รวมไปถึงเป็นการลดต้นทุนการประกอบในโรงประกอบรถ เนื่องจากปั๊มติ๊กที่ติดตั้งในถังน้ำมันจะถูกผลิตสำเร็จรูปติดมากับถังน้ำมันจาก supplier เลย

ปั๊มติ๊กแบบไฟฟ้าจะมีทั้งแบบใช้ เรกกูเรเตอร์(อยู่ที่ห้องเครื่อง)ในการควบคุมแรงดันน้ำมันในระบบและส่งแรงดันส่วนเกินกลับถังน้ำมัน ซึ่งมีข้อดีก็คือจะช่วยควบคุมน้ำมันไม่ให้ร้อนเกินไป ส่วนปั๊มติ๊กแบบไม่ใช้เรกกูเรเตอร์ จะใช้ ECU เป็นตัวควบคุมแรงดันไฟฟ้าให้เหมาะสมที่จะจ่ายให้ปั๊มติ๊กส่งผลให้ความดันน้ำมันที่ปั๊มสูบฉีดแปรผันตามแรงดันไฟฟ้า หรืออีกแบบก็คือใช้ pressure relief valve ที่ตัวปั๊มติ๊กเองปล่อยแรงดันส่วนที่เกินกลับถังน้ำมัน

น้ำมันที่ไหลผ่านปั๊มติ๊กช่วยให้ปั๊มติ๊กไม่ร้อนและมีการหล่อลื่น เมื่อน้ำมันในถังเหลือน้อยปั๊มติ๊กก็ยิ่งต้องทำงานหนักขึ้นในการสูบน้ำมันที่อยู่ระดับต่ำลงไป ประกอบกับไม่มีน้ำมันมาห่อหุ้มเพื่อระบายความร้อนและหล่อลื่นปั๊มติ๊ก ทั้งสองเหตุผลนี้คือสาเหตุที่ทำให้ปั๊มติ๊กเริ่มเสื่อมสภาพ

ถ้าจำเป็นต้องจอดรถทิ้งไว้นานๆ ควรถ่ายน้ำมันเก่าออกให้หมดแล้วใส่น้ำมันใหม่ไปแทนที่
เพราะปัจจุบันผู้ใช้รถนิยมเติมน้ำมันแก๊สโซฮอลซี่งมีส่วนผสมของเอทานอล โดยน้ำมันที่ผสมเอทานอลมักจะชอบดูดความชื้น และเมื่อจอดรถไว้นานๆโดยไม่ได้ขับ น้ำมันกับน้ำจะแยกชั้นกันในถังน้ำมัน (เอทนานอลก็จะแยกชั้นกับน้ำมันด้วย) และปั๊มติ๊กที่จุ่มอยู่ในถังน้ำมันจึงมีโอกาสเกิดสนิมกับส่วนที่เป็นโลหะของปั๊มได้ แม้ถังน้ำมันของรถบางยี่ห้อจะไม่ใช่โลหะ แต่น้ำในถังน้ำมันก็ยังก่อให้เกิดสนิมกัดกินตัวปั๊มติ๊กและก้านลูกลอยได้

น้ำมันสกปรกทำให้ปั๊มติ๊กเสียได้ เพราะสิ่งปนเปื้อนที่มีขนาดใหญ่กว่า 70 ไมครอน จะไม่สามารถผ่านกรองเบนซินได้ แต่สิ่งปนเปื้อนที่มีขนาดเล็กกว่า (30-40 ไมครอน) จะผ่านไปได้และเข้าไปสร้างความเสียหายให้กับแปรงถ่านของปั๊มติ๊กทำให้สึก เมื่อสึกมากๆเข้าปั๊มติ๊กก็จะมีความต้องการกระแสไฟฟ้ามากขึ้นทั้งๆที่ยังสูบน้ำมันที่ความดันเท่าเดิม ส่งผลให้ขั้วข้อต่อไฟฟ้าของปั๊มติ๊กไหม้ ดังนั้นก่อนเปลี่ยนปั๊มติ๊กตัวใหม่ อย่าลืมเช็คข้อต่อด้วยว่ามีรอยไหม้หรือไม่ ถ้าขั้วข้อต่อไหม้และไม่ได้เปลี่ยนใหม่ ถึงเปลี่ยนปั๊มติ๊กตัวใหม่ก็จะเสียอีก

fuel pump

6 สัญญาณที่บ่งบอกว่าปั๊มติ๊กเริ่มเสื่อม

  • เครื่องสะดุดที่ความเร็ว(คงที่) เนื่องจากปั๊มติ๊กเริ่มเสื่อมสภาพแรงดันจึงขาดช่วงหรือทำให้สร้างแรงดันไม่ถึงค่าที่เหมาะสมได้ในบางครั้ง
  • สตาร์ทแล้วเครื่องสะดุด/กระตุก เนื่องจากปั๊มติ๊กไม่สามารถส่งน้ำมันที่มีแรงดันที่เหมาะสมตามความต้องการของระบบได้เพียงพอในการผสมกับอากาศเพื่อเกิดการเผาไหม้ส่งผลให้เกิดการสะดุด/กระตุกระหว่างการติดเครื่อง
  • เครื่องไม่มีกำลังหรือกระตุกเมื่อขับรถขึ้นทางชันหรือใช้ลากจูง เพราะปั๊มติ๊กเริ่มเสื่อมสภาพ สภาวะปกติจึงสามารถสูบน้ำมันจ่ายให้ระบบด้วยแรงดันปกติได้ แต่เมื่อระบบต้องการน้ำมันมากขึ้น/แรงดันมากขึ้น ปั๊มติ๊กจะไม่สามารถ support ความต้องการที่เพิ่มขึ้นของระบบได้
  • เครื่องวูบเมื่อวี่งด้วยความเร็วคงที่ สาเหตุของอาการนี้มาจาก(ความต้านทาน)มอเตอร์ในปั๊มติ๊กเสื่อมสภาพ ปั๊มจึงไม่สามารถรักษาแรงดันให้เสถียรตามค่าปกติ (คนส่วนใหญ่มักเข้าใจว่าอาการนี้เกิดจากกรองน้ำมันเบนซินเสื่อมสภาพ)
  • รถสตาร์ทไม่ติด ถ้าเจ้าของรถเพิกเฉยอาการที่เป็นสัญญาณเตือนข้างต้น สุดท้ายก็จะมาจบที่อาการนี้ นั่นคือปั๊มติ๊กเสียหรือไม่ทำงานแล้ว เมื่อสตาร์ทยังได้ยินเสียงไดสตาร์ทและเครื่องยนต์ทำงานแต่ไม่มีน้ำมันฉีดเข้าระบบ ตรวจสอบระบบน้ำมันเชื้อเพลิงได้ที่ฟิวส์ว่าขาดหรือไม่ ถ้าฟิวส์ไม่ขาด ตรวจสอบแรงดันของระบบ ถ้าไม่มีแรงดันแสดงว่าปั๊มติ๊กไม่ทำงาน
  • สำหรับรถติดแก๊ส ถ้าสตาร์ทด้วยน้ำมันไม่ติด แต่สตาร์ทด้วยแก๊สติด แสดงว่าปั๊มติ๊กมีปัญหาแน่นอน

ทำอย่างไรให้ปั๊มติ๊กอยู่คู่กับรถเราไปนานๆ

  • ควรเติมน้ำมันที่สะอาด/มีคุณภาพ เพราะจะไม่มีสิ่งแปลกปลอมไปอุดตันหรือสร้างความเสียหายที่ตัวปั๊มติ๊ก
  • ควรเติมน้ำมันให้มากกว่าระดับ ¼ ของถังอยู่เสมอ เพื่อเป็นการหล่อลื่นและระบายความร้อนให้กับปั๊มติ๊กและปั๊มติ๊กจะไม่ต้องทำงานสูบน้ำมันในระดับที่ต่ำจนเกินไป
  • ถ้าต้องจอดรถทิ้งไว้นานๆ ควรถ่ายน้ำมันเก่าที่ค้างออกแล้วเติมน้ำมันใหม่เข้าไป
  • สำหรับรถติดแก๊ส ควรเปลี่ยนมาใช้น้ำมันบ้าง เนื่องจากกรองเบนซินตันหรือเสีย ก็จะมีอาการคล้ายๆปั๊มติ๊กเสีย คือสตาร์ทไม่ติดบ้าง หรือสตาร์ทติดแต่กระตุก ดังนั้นถ้าพบว่ากรองเบนซินตันหรือเสียควรรีบเปลี่ยน

IMG_53

This entry was posted in การดูแลรถ, การใช้งานรถ, ความรู้เรื่องรถ and tagged , . Bookmark the permalink.

4 Responses to 6 สัญญาณ 4 เทคนิคดูแลปั๊มติ๊กให้อยู่คู่รถนานๆ

  1. Mr.Ken says:

    ปั๊มติ๊กของรถยนต์ ทำไมราครจึงแพง.

    Like

  2. T says:

    ฟิวส์ระบบบแรงดันเชื้อเพลิงอยู่ใหนครับ

    Like

    • จะอยู่แตกต่างกันในรถแต่ละรุ่น/ยี่ห้อครับ ต้องศึกษาจากคู่มือรถหรือหาข้อมูลเพิ่มเติมจากช่าง

      Like

  3. เอ says:

    มีสาระดีมากครับผม

    Like

Leave a comment