5 สัญญาณเตือนปัญหาเกียร์กระปุก

ที่มารูป freepik.com

น้ำมันคลัตซ์ลดลงจากกระปุกอย่างผิดสังเกต หรือพบรอยน้ำมันคลัตซ์ใต้ท้องรถ/ในชุดกล่องเกียร์ นี่เป็นสัญญาณว่าอาจมีการรั่วไหลในระบบเกียร์หรือคลัตซ์ทำงานไม่ปกติ

คลัตช์ลื่น

โดยปกติแล้ว ถ้าใครขับรถเกียร์กระปุกก็จะรู้จักรถของตนเป็นอย่างดี และจะรู้ว่าต้องใช้รอบเครื่องยนต์เท่าไรในแต่ละช่วงความเร็วในแต่ละเกียร์ แต่เมื่อเครื่องยนต์ทำงานมีรอบเครื่องสูงขึ้นแต่ความเร็วรถยนต์ลดลงกว่าปกติ หรือรถไม่มีกำลังขึ้นทางชัน ซึ่งอาจมีสาเหตุที่ผ้าคลัตช์เปื้อนน้ำมันอันเกิดจากน้ำมันเกียร์รั่วหรือผ้าคลัตช์สึกหรอมาก ซึ่งอาการที่ผ้าคลัตช์สึกหรอมากเราจะเรียกอาการนี้ว่าคลัตช์หมด ยิ่งผ้าคลัตช์สึกหรอมากผู้ขับรถก็ต้องใช้แรงในการเหยียบคลัตช์มากและเปลี่ยนเกียร์ได้ยากขึ้น

แป้นคลัตซ์นิ่มหรือจม

เมื่อเหยียบคลัตช์แล้วรู้สึกยวบนิ่มหรือจมลงไปกว่าปกติ บางครั้งอาจเหยียบแล้วจมไม่คืนกลับมาตำแหน่งเดิม แสดงว่าอาจเกิดการรั่วของน้ำมันคลัตช์หรือมีอากาศเข้าไปในระบบ หรืออาจเป็นทั้งสองอย่างพร้อมกัน

แป้นคลัตซ์แข็ง

ในทางตรงกันข้าม ถ้าเหยียบแป้นคลัตซ์แล้วรู้สึกแข็งกว่าปกติ ต้องออกแรงมากกว่าที่เคยกดแป้นตามปกติ หรือเหยียบไปแล้วรู้สึกติดขัดหรือกดลงยาก ก็ควรตรวจเช็คระบบคลัตช์เช่นกัน

กลิ่นไหม้

โดยปกติที่แผ่นจานคลัตช์จะมีผ้าคลัตช์ฉาบอยู่เพื่อเพิ่มแรงเสียดทาน รวมถึงช่วยลดการเสียดสีและสึกหรอของจานคลัตช์ ผ้าคลัตช์จะเป็นวัสดุที่ทำมาจากใยหิน และสารสังเคราะห์ ผสมรวมกัน มีคุณสมบัติเหนียว (อายุการใช้งานของผ้าคลัตช์จะอยู่ที่ 80,000 ถึง 100,000 กม.)  แต่เมื่อใช้งานไปเรื่อยๆผ้าคลัตช์ก็จะเริ่มบางลงจนสุดท้ายจะเหลือแต่จานคลัตช์เปลือยๆ ส่งผลให้เกิดการเสียดสีระหว่างโลหะโดยตรงเมื่อกำลังเปลี่ยนเกียร์ ซึ่งไม่เพียงแต่จานคลัตช์ที่จะเสียหาย แต่ยังมีกลิ่นไหม้จากการเสียดสีอีกด้วย ส่งผลให้เปลี่ยนเกียร์ได้ยากขึ้นจากการบดกันของจานคลัตช์และชุดเกียร์

Posted in การดูแลรถ, การใช้งานรถ | Tagged , | Leave a comment

เมื่อรถ EV ไฟไหม้เองหลังจากน้ำท่วม!

รถโดนน้ำท่วมก็ว่าแย่แล้ว แต่ถ้ารถคันนั้นยังถูกไฟไหม้อีก หากเป็นรถยนต์ธรรมดาก็ว่าแปลกแล้ว แต่ถ้ารถคันนั้นเป็นรถEV ที่ทั้งโดนน้ำท่วมและไฟไหม้เองในคันเดียวกัน มีโอกาสเกิดขึ้นจริงไหม?

แล้วการดับไฟและการจัดการหลังน้ำลดสำหรับรถEV จะทำอย่างไร? ทำเหมือนรถยนต์ที่ใช้น้ำมันไหม?

พายุเฮอริเคน “เอียน” ที่พัดถล่มรัฐฟลอริดาของอเมริกาได้พัดพาคำตอบมาให้กับเราแล้ว…

วันที่ 28 กันยายน 2565 พายุเฮอริเคนเอียนพัดถล่มชายฝั่งอ่าวของฟลอริดา คร่าชีวิตผู้คนไปอย่างน้อย 136 ราย สร้างความเสียหายสูงถึงมูลค่ากว่า 5 หมื่นล้านดอลลาร์และทำให้เกิดน้ำท่วมใหญ่เป็นวงกว้าง

นอกจากนี้ ผลพวงของน้ำท่วมจากพายุยังทำให้ยานยนต์ไฟฟ้า(รถEV)อย่างน้อย 11 คันเกิดเพลิงไหม้ !

ข้อมูลจากหนังสือพิมพ์ US TODAY วันที่ 26 ต.ค. 2565 รายงานว่ามีรถEVจำนวน 11 คันที่เกิดเพลิงไหม้ในฟลอริดาหลังเกิดน้ำท่วมจากพายุ โดยสาเหตุเชื่อว่าเกิดจากชุดแบตเตอรี่ของรถที่เกิดการลัดวงจรหลังจากจมอยู่ในน้ำ(ทะเล) หรืออาจเกิดจากความเสียหายทางกายภาพต่อชุดแบตเตอรี่ของรถในระหว่างที่น้ำท่วม

อย่างไรก็ตาม ไม่มีรายงานผู้เสียชีวิตระหว่างเกิดไฟไหม้รถ มีเพียงรายงานว่าพบเหตุเพลิงไหม้บ้านที่รถEV จอดอยู่และลุกลามไปบ้านข้างเคียงที่เกาะ Sanibel รวมถึงไม่มีรายงานการถูกไฟฟ้าช็อตจากรถEV ที่ถูกน้ำท่วม

จากข่าวนี้หลายคนคงสงสัยว่าทำไมน้ำท่วมรถ(EV)จึงทำให้ไฟไหม้รถ(EV)ได้ในภายหลัง…

ทั้งนี้ก็เพราะแบตเตอรี่ของรถEVเมื่อจมอยู่ในน้ำท่วม สารปนเปื้อนในน้ำ(โดยเฉพาะความเค็มจากน้ำทะเล) ทำให้เกิดการกัดกร่อนส่วนประกอบทางไฟฟ้าทั้งแรงดันต่ำและแรงดันสูงจนเสียหายได้ ส่งผลให้เกิดการลัดวงจรไฟฟ้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่เมื่อมีการไหลออกของน้ำที่ท่วมขัง(ในแบตฯ)ออกจากแบตเตอรี่หลังน้ำลด

เมื่อเซลล์แบตเตอรี่เกิดการลัดวงจรไฟฟ้า จะส่งผลให้เซลล์แบตเตอรี่คายทั้งประจุไฟฟ้าและความร้อนออกมา ซึ่งเรียกปรากฎการณ์นี้ว่า “Thermal runaway” โดยความร้อนที่แพร่ออกมาจะกระจายจากเซลล์แบตเตอรี่หนึ่งไปยังอีกเซลล์หนึ่ง สะสมจนเกิดการติดไฟลุกไหม้

นอกจากนี้ ทั้งตัวรถ EV และ/หรือแบตเตอรี่เมื่อได้รับความเสียหายไปแล้วไม่ว่าจะเกิดความเสียหายจากการชนหรือจากน้ำท่วม ยังมีโอกาสเกิดการลัดวงจรและเกิดไฟลุกไหม้ได้เองในภายหลัง โดยเฉพาะเมื่อมีการเคลื่อนย้ายตัวรถหรือมีการสั่นสะเทือนเกิดขึ้น เช่น เมื่อระหว่างที่รถถูกยกขึ้นหรือลงจากรถลากจูง โดยรถEVที่เกิดเพลิงไหม้ที่ฟลอริดาบางคัน เกิดไฟไหม้ระหว่างถูกยกขึ้นรถลากจูงหลังน้ำลดไปหลายวันแล้วด้วยซ้ำ

ทางหน่วยงาน The National Highway Traffic Safety Administration (NHTSA) ของอเมริกาเตือนว่าการลัดวงจรทางไฟฟ้าอาจไม่สามารถมองเห็นได้ และรถ EV สามารถเกิด thermal runaway ได้ตั้งแต่ในเพียงไม่กี่ชั่วโมงไปจนถึงหลายวันหลังจากโดนน้ำท่วม

ซึ่งหมายความว่ารถ EV ที่ถูกน้ำท่วมควรถูกเคลื่อนย้ายให้ห่างจากอาคารหรือห่างจากรถคันอื่นอย่างน้อย 15 ฟุต ไม่ว่าอย่างไรก็ตามไม่ควรที่จะขับในกรณีนี้ จริงๆไม่ควรสตาร์ทรถด้วยซ้ำไม่ว่าจะเป็นรถยนต์ไฟฟ้าหรือรถยนต์ที่ใช้น้ำมันหลังจากน้ำท่วม จนกว่าจะได้รับการตรวจสอบ รวมไปถึงควรจัดให้ห้องโดยสารของรถมีการระบายอากาศเพราะอาจมีก๊าซไวไฟจากแบตเตอรี่แรงดันสูงที่เสียหายด้วย

อย่างไรก็ตามสัดส่วนรถEV ที่เกิดไฟไหม้นั้นยังน้อยมากเมื่อเทียบกับรถยนต์ที่ใช้เชื้อเพลิงจากน้ำมัน

โดยในเขต Lee country ซึ่งเป็นที่ตั้งของเกาะ Sanibel มีรถEV จดทะเบียนรวมทั้งสิ้น 2,683 คันเมื่อปีที่แล้ว แต่มีรถ EV เพียงคันเดียวเท่านั้นที่เกิดเพลิงไหม้จากพายุเฮอริเคนเอียน ซึ่งถือเป็นสัดส่วนที่น้อยกว่า 0.04% ของรถEVในเขตนี้ทั้งหมด

ข้อมูลจาก National Transportation Safety Board (NTSB) และ the Bureau of Transportation Statistics ของอเมริกาเปิดเผยสถิติเพิ่มเติมอีกว่าจากจำนวนรถ EV ทุก 100,000 คันจะมีรถ EV เกิดเพลิงไหม้ประมาณ 25 คัน ในขณะที่รถที่ใช้น้ำมันทุก 100,000 คัน จะมีรถใช้น้ำมันเกิดเพลิงไหม้ถึง 1,530 คัน นั่นคือรถยนต์ที่ใช้น้ำมันยังมีสัดส่วนและโอกาสเกิดเพลิงไหม้ที่มากกว่ารถEV

ขอปิดท้ายด้วยคำแนะนำเบื้องต้นสำหรับรถEVที่ถูกน้ำท่วมและการดับเพลิงรถEV นะครับ

  • ให้ปิดสวิตช์กุญแจรถEVที่จมน้ำ(ถ้าทำได้)
  • หากไม่สามารถปิดสวิตช์ดับรถได้ ให้รอจนกว่าน้ำแห้งและระบายน้ำในรถออกทั้งหมดก่อนที่จะพยายามปิดสวิตซ์รถ
  • อาจมีฟองอากาศเล็กๆ ออกมาจากแบตเตอรี่แรงดันสูง จากรถที่แช่อยู่ในน้ำ ฟองเหล่านี้นี้ไม่ได้บ่งชี้ถึงอันตรายจากไฟฟ้าช็อต แต่ควรเพิ่มความระมัดระวังอย่าสัมผัสส่วนประกอบจากไฟฟ้าแรงดันสูง
  • สำหรับรถEV ที่เกิดเพลิงไหม้ ให้ฉีดน้ำไปที่ใต้ท้องรถ เพราะแบตเตอรี่ EV ส่วนใหญ่จะอยู่ใต้ท้องรถ ดังนั้นการฉีดน้ำไปที่ตัวรถด้านบนหรือในห้องเครื่องแบบรถที่ใช้น้ำมันนั้นไม่มีประโยชน์

อ้างอิง NFPA.org, abcnews.go.com, UStoday.com

ที่มารูป freepik

Posted in อื่นๆ | Tagged , , , | Leave a comment

เทคโนโลยี CTC กับ CTB ในรถ EV ของใครเจ๋งกว่า? ต่างกันอย่างไร?

เนื่องจากแต่เดิมทางผู้ผลิตยานยนต์จะใช้โครงสร้างตัวถังหรือแชสซีเดิมของรถเครื่องยนต์สันดาปภายใน แล้วนำชุดแบตเตอรี่มาจัดวางใต้ท้องรถไปเลย ส่วนโครงสร้างชุดแบตเตอรี่นั้นก็จะเป็นแบบแบตเตอรี่แพ็คที่ประกอบไปด้วยแบตเตอรี่โมดูล และหน่วยเล็กที่สุดเป็นแบตเตอรี่เซลล์ เพราะช่วยในเรื่องการจัดการความร้อน/การถ่ายเทความร้อนในแต่ละเซลล์ และการแบ่งเป็นหน่วยอย่างโมดูล ก็ยังช่วยในการตัดวงจรความเสียหายและง่ายต่อการซ่อมบำรุงแยกเป็นโมดูล รวมถึงยังเพิ่มความแข็งแรงให้กับชุดแบตเตอรี่ในแง่ของความปลอดภัยที่มีโครงสร้างทั้งแบตเตอรี่โมดูลและแบตเตอรี่แพ็คครอบอีกชั้นหนึ่ง แต่รูปแบบ “เซลล์-โมดูล-แพ็ค” นี้ก็ส่งผลให้ต้องมีโครงสร้างและระบบสายไฟที่ซับซ้อนภายในแบตเตอรี่เพื่อเชื่อมระหว่างเซลล์และระหว่างโมดูล จึงได้มีการคิดค้น CTP หรือ Cell to pack ขึ้นเพื่อตัดในส่วนของโมดูลออก

ที่มารูป https://www.researchgate.net/

CTP (cell to pack)

เป็นเทคโนโลยีที่ในแบตเตอรี่แพ็คจะประกอบด้วยเซลล์แบตเตอรี่โดยตรง ไม่ต้องใช้โมดูล ลดส่วนประกอบในโครงสร้างและสายไฟของแบตเตอรี่โมดูลออก ลดต้นทุนและลด process ในการประกอบแบตเตอรี่ แต่ CTP ก็มีข้อจำกัดคือ การบำรุงรักษา และการถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่ที่ยุ่งยากขึ้น จากเดิมที่สามารถเปลี่ยนเป็นโมดูลเป็นก้อนๆ เมื่อโมดูลใดโมดูลหนึ่งเสียหาย ก็อาจจำเป็นต้องเปลี่ยนยกแพ็คเมื่อเซลล์แบตเตอรี่ใดเสียหาย

แต่ด้วยการแข่งขันในตลาดรถ EV ที่เพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ผลิตยานยนต์บางค่ายต้องการออกแบบให้ตัวถังรถสามารถบรรจุแบตเตอรี่ได้เพิ่มมากขึ้น (วิ่งได้ระยะไกลขึ้น) และเพิ่มยอดขายรถ (เพราะบางประเทศยังมีการห้ามนำเข้าโคบอลต์หรือนิกเกิ้ลด้วยกังวลปัญหาด้านสิ่งแวดล้อม) โดยลดผลกระทบต่อพื้นที่ในห้องโดยสารให้น้อยที่สุด ประกอบกับแบตเตอรี่แบบ LFP (Lithium Ion Phosphate) นั้นมีความปลอดภัยสูงกว่าแบตเตอรี่แบบ NMC จึงได้มีการคิดค้นเทคโนโลยี CTC (Cell to Chassis) และ CTB (Cell to Body) ขึ้น

ที่มารูป https://auto.cctv.com/

CTC (Cell to Chassis) และ CTB (Cell to Body)

นั้นมีคอนเซ็ปแบบเดียวกัน คือไม่มีทั้งแบตเตอรี่โมดูลและไม่มีแบตเตอรี่แพ็ค เป็นการประกอบแบตเตอรี่เซลล์เข้ากับ Chassis หรือ Body ของรถโดยตรง ส่งผลให้ตัดตัวโครงสร้างตัวแบตเตอรี่แพ็คและโมดูลออก จึงสามารถเพิ่มพื้นที่ในแนวดิ่ง(แนวตั้ง)ของตัวถังรถได้ หรือก็คือเพิ่มพื้นที่ให้กับห้องโดยสาร

แต่อย่างไรก็ตาม ทั้ง CTC และ CTB นั้นต้องใช้เทคโนโลยีในการผลิตแบตเตอรี่ที่สูงขึ้น (ต้องออกแบบและทดสอบแบตเตอรี่เซลล์ให้มีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้นด้วยเพราะแบตเตอรี่จะกลายเป็นส่วนหนึ่งของตัวถังหรือแชสซีรถ) การประกอบที่ยากขึ้น และยังต้องออกแบบตัวถังรถหรือแชสซีใหม่ รวมถึงการทดสอบทางไฟฟ้าเฉพาะแบตเตอรี่ก็ทำได้ยากขึ้น ไม่สามารถทดสอบเฉพาะแบตเตอรี่ได้อย่างเดียว ต้องทำการทดสอบทั้งตัว chassis พร้อมแบตเตอรี่ไปเลย

CTC และ CTB นั้นแตกต่างกันอย่างไร?

CTC นั้นเป็นเทคโนโลยีของ Tesla และ Leapmotor ในขณะที่ CTB นั้นเป็นเทคโนโลยีของ BYD

โดย CTC ของ Leapmotor คือการออกแบบโดยไร้ฝาครอบแบตเตอรี่แพ็คด้านบน ในขณะที่ CTC ของ Tesla ออกแบบโดยเอาพื้นของห้องโดยสารออก แล้วใช้แบตเตอรี่เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างรถแทน โดยออกแบบให้ผสานเข้ากับคานและส่วนอื่นๆของห้องโดยสาร ดังนั้นการถอดเปลี่ยนแบตเตอรี่นั้นแทบจะทำได้ยากมาก (ถ้าแบตเตอรี่เสียอาจต้องเปลี่ยนทั้งตัวถังเลยทีเดียว)

ส่วน CTB ของ BYD มีคอนเซ็ปในการออกแบบที่ต่างกัน โดย CTC มองว่าชุดแบตเตอรี่ยังเป็นส่วนแยกออกมาจากตัวถังรถที่ยังต้องระมัดระวังป้องกัน ในขณะที่ CTB นั้นใช้เบลดแบตเตอรี่ (Blade battery) ที่โครงสร้างของแบตเตอรี่เองก็มีความแข็งแรงด้วยตัวมันเองอยู่แล้วมาใช้เป็นส่วนหนึ่งของโครงสร้างตัวถังรถไปเลย ไม่ต้องออกแบบรวมเข้ากับคานของห้องโดยสารเหมือน CTC

ถ้ามองในแง่ของการออกแบบแล้ว CTC จะมีความซับซ้อนกว่า แต่ถ้ามองในแง่ของความปลอดภัย CTB ดูจะเหนือกว่าเล็กน้อย ด้วยข้อได้เปรียบของ Blade แบตเตอรี่

Posted in ความรู้เรื่องรถ, อื่นๆ | Tagged , , | Leave a comment

เซ็นเซอร์ถอยทำงานอย่างไร ? ดูแลอย่างไร?

รถรุ่นใหม่ๆสมัยนี้จะมีเซ็นเซอร์ถอย ที่ช่วยในการแจ้งเตือนวัตถุกีดขวางเมื่อถอยจอด ซึ่งนอกจากจะช่วยแจ้งเตือนแล้ว ประโยขน์ของเซ็นเซอร์ยังช่วยให้เราถอยจอดในพื้นที่แคบๆได้ ลดความเสียหายที่จะเกิดกับตัวรถและอุบัติเหตุได้อีกด้วย

โดยปัจจุบันเซ็นเซอร์ที่นิยมใช้สำหรับรถจะมี 2 ประเภท

เซ็นเซอร์แบบอัลตราโซนิค

เซ็นเซอร์ประเภทนี้จะใช้หลักการคล้ายๆประสาทสัมผัสของค้างคาว โดยการส่งคลื่นความถี่สูงออกไปและตรวจจับการสะท้อนกลับของคลื่นความถี่ จากนั้นจะคำนวณบอกระยะวัตถุที่กีดขวางโดยแจ้งเป็นสัญญาณเสียงให้เราทราบ (บางรุ่นที่รองรับอุปกรณ์เสริม อาจจะแจ้งเตือนเป็นตัวเลขหรือกราฟฟิคง่ายๆแสดงระยะความใกล้ไกลของวัตถุได้อีกด้วย)

อย่างไรก็ตามเซ็นเซอร์ก็อาจตรวจจับไม่เจอ ในกรณีต่อไปนี้

  • วัตถุที่กีดขวางมีพื้นผิวนุ่มที่ดูดซับเสียง/คลื่นสะท้อน
  • วัตถุที่มีขนาดผอมหรือเรียวมากๆ เซ็นเซอร์ก็อาจตรวจจับไม่เจอ เช่น เสาเล็กๆ
  • วัตถุที่อยู่ด้านในมุมตั้งฉากหรือในมุมที่คลื่นสัญญาณของเซ็นเซอร์ไม่สามารถสะท้อนกลับได้
  • วัตถุที่อยู่ต่ำเกินไปหรืออยู่ในมุมอับสัญญาณของเซ็นเซอร์ เช่น ขอบถนน

เซ็นเซอร์แบบอิเล็กโตรแมกเนติก

ด้วยข้อจำกัดในการตรวจจับของเซ็นเซอร์แบบอัลตราโซนิค จึงมีการพัฒนาเซ็นเซอร์โดยใช้สัญญาณคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ซึ่งสามารถตรวจจับวัตถุได้ดีกว่า แต่ราคาก็สูงกว่า โดยมากเซ็นเซอร์ประเภทนี้จะใช้ร่วมกับกล้องถอย เพื่อใช้เป็นส่วนหนึ่งของระบบฃ่วยจอด

การดูแลรักษา

ปกติตัวเซ็นเซอร์และระบบจะไม่ค่อยมีปัญหา รวมถึงอายุการใช้งานค่อนข้างนานหลายปี ส่วนใหญ่ปัญหาที่พบมักจะเป็นที่ตัวเซ็นเซอร์เองที่เสียเนื่องจากมีน้ำหรือฝุ่นเข้า ให้ใช้พวก สเปรย์อเนกประสงค์พวก WD-40 หรือน้ำยาป้องกันสนิม หล่อลื่นอุปกรณ์ ไล่ความชื้น ทำความสะอาดลองฉีดที่เซ็นเซอร์ ถ้าเซ็นเซอร์ยังคงทำงานไม่ปกติ ให้ทำการเปลี่ยนเซ็นเซอร์ตัวใหม่

Posted in การดูแลรถ | Tagged , , | Leave a comment

เมื่อไรต้องเปลี่ยนผ้าเบรค จานเบรค?

ปกติผ้าเบรคควรจะเปลี่ยนที่ราวๆ 50,000 ถึง 100,000 กิโลเมตรหรือเมื่อผ้าเบรคมีความหนาน้อยกว่า 3 มม. แต่ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับชนิดของผ้าเบรคและพฤติกรรมในการขับขี่ ว่ามีการเหยียบเบรคกระทันหันด้วยความรุนแรงหรือไม่ มีการเลี้ยงเบรคหรือไม่ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตามจานเบรคก็มีการสึกหรอจากการเสียดสีและส่งผลให้ผิวจานอาจไม่เรียบด้วยเช่นกัน โดยตามหลักการแล้ว เมื่อเปลี่ยนผ้าเบรคใหม่ก็ควรจะเปลี่ยนจานเบรคใหม่ด้วยเช่นกัน แต่เนื่องจากรถยนต์สมัยก่อนที่จานเบรคค่อนข้างหนา การเจียรจานเบรคเพื่อปรับผิวหน้าจานใหม่ให้เรียบนั้นสามารถทำได้ แต่สำหรับรถยนต์ในปัจจุบันด้วยการลดต้นทุนของค่ายรถต่างๆ จานเบรคจึงมีความหนาลดลงเพื่อลดต้นทุนและราคา ดังนั้นผู้ผลิตรถยนต์จึงแนะนำให้เปลี่ยนจานเบรคใหม่เมื่อมีการเปลี่ยนผ้าเบรคใหม่ไปพร้อมกันเลยมากกว่า

แต่ในความเป็นจริงก็ไม่จำเป็นว่าทุกครั้งที่เปลี่ยนผ้าเบรคใหม่ต้องเปลี่ยนจานเบรคไปด้วย ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับสภาพจานเบรคว่าไม่มีการโก่งบิดเสียรูป/รอยคลื่นและยังมีความหนาเพียงพอในการใช้งานหรือไม่ ยกเว้นว่าถ้าจานเบรคเคยถูกเจียรมาก่อนแล้ว เมื่อต้องทำการเปลี่ยนผ้าเบรคใหม่อีกรอบ ก็ไม่ควรจะเจียรจานอีกเพราะความหนาของจานเบรคอาจไม่เพียงพอ

ส่วนความหนาน้อยสุดเมื่อต้องเปลี่ยนจานเบรคสามารถตรวจสอบได้จากตัวจานเบรคเอง

บางครั้งเราก็สามารถบอกได้ด้วยตัวเองว่าถึงเวลาที่ต้องเปลี่ยนจานใหม่ได้แล้ว ถ้าพบว่าเมื่อเหยียบเบรคแล้วมีเสียงเหล็กเสียดสีมาจากเบรคหรือมีแรงสั่นเมื่อเหยียบเบรค รวมไปถึงเมื่อมีสัญญาณไฟเตือนบนแผงหน้าปัดด้วยเช่นกัน

Posted in การดูแลรถ, ความรู้เรื่องรถ, อื่นๆ | Tagged , , | Leave a comment

ไฟเตือนเครื่องยนต์เกิดจากสาเหตุอะไรได้บ้าง?

ไฟเตือนเครื่องยนต์ คือ ไฟที่แสดงสัญญาณจาก ECU รถว่ามีปัญหาอะไรสักอย่าง โดยปกติแล้วเมื่อรถติดเครื่องแล้ว ECU จะทำการตรวจสอบทวนสัญญาณกับทุกอุปกรณ์ในระบบว่ายังทำงานปกติดีอยู่หรือเปล่า

ถ้าไฟเครื่องยนต์ติดกระพริบขณะที่ขับรถอยู่ให้รีบทำการหยุดรถ(ในที่ปลอดภัย)ทันที แล้วทำการติดต่อรถลากเข้าอู่หรือศูนย์บริการเพื่อตรวจสอบ หากยังฝืนขับต่อ เครื่องยนต์หรืออุปกรณ์ที่สำคัญในรถอาจจะเสียหายหนักจนต้องยกเครื่องใหม่เลยก็ได้

แต่ถ้าไฟเครื่องยนต์แค่ติดค้าง กรณีนี้ถือว่ายังไม่ร้ายแรง ยังพอสามารถขับรถต่อไปได้ แต่ก็ควรตรวจเช็คเพิ่มเติมเพื่อแก้ไข

โดยทั่วไปแล้วสาเหตุที่ส่งผลให้ไฟเตือนเครื่องยนต์ติดมักเกิดจากอุปกรณ์ส่วนใหญ่ดังต่อไปนี้

  • Catalytic converter ซึ่งมีหน้าที่หลักคือการแปลงสสารของก๊าซคาร์บอนมอนน็อกไซต์หรือสารพิษอื่นๆให้ลดทอนลงด้วยความร้อนสูงๆ รวมถึงเผาไหม้ตะกอนต่างๆอีกด้วย ดังนั้นถ้ามีไฟเตือนเครื่องยนต์ติดจากแคตฯก็จะส่งผลให้ครื่องยนต์ไม่มีกำลังและกินน้ำมัน (อ่านเทคนิคการดูรักษาแคตฯได้จากบทความ “7 เหตุผลที่ทำให้แคตตาไลติกกลับบ้านเก่าก่อนกำหนด”)
  • Mass Airflow Sensor (MAF sensor) เป็นอุปกรณ์ที่วัดปริมาณอากาศที่เข้าสู่ระบบแล้วส่งข้อมูลไป ECU เพื่อประมวลผลฉีดน้ำมันให้เหมาะสมกับการเผาไหม้กับปริมาณอากาศที่เข้ามา ส่วนใหญ่แล้วโอกาสที่เซ็นเซอร์จะเสียนั้นพบไม่ได้บ่อย แต่ถ้าเซ็นเซอร์ทำงานผิดเพี้ยน ต้นเหตุส่วนใหญ่มักเกิดจากกรองอากาศที่ตันหรือสกปรกซึ่งไม่ได้รับการเปลี่ยนใหม่มากกว่า อาการที่จะตามมาก็คือเครื่องกระตุกสะดุด ไม่มีกำลัง (อ่านบทความเกี่ยวการเปลี่ยนกรองอากาศได้ที่ “การเปลี่ยนกรองอากาศไม่ได้ช่วยให้ประหยัดน้ำมันขึ้น!”)
  • เมื่อลืมปิดฝาถังน้ำมันหรือปิดไม่สนิท จะส่งผลให้แรงดันในระบบไม่เพียงพอ ซึ่งในรถบางรุ่นนอกจากจะทำให้ไฟเครื่องยนต์โชว์แล้ว ยังทำให้รถกินน้ำมันและปล่อยมลพิษมากกว่าปกติอีกด้วย
  • ออกซิเจนเซ็นเซอร์ในท่อไอเสีย นอกจากจะช่วยรักษาส่วนผสมของอากาศกับน้ำมันในเครื่องยนต์ให้ถูกต้องเหมาะสมส่งผลให้ไม่มีน้ำมันส่วนเกินหลุดไปเผาไหม้ที่แคตฯแล้ว ยังเป็นอีกอุปกรณ์ที่ช่วยตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของแคตฯ ถ้าเซ็นเซอร์ตัวนี้เสีย ก็จะส่งสัญญาณเป็นไฟเตือนเครื่องยนต์ที่หน้าปัด

อย่างไรก็ตาม ถ้าตรวจสอบอุปกรณ์ข้างต้นแล้วยังไม่พบต้นเหตุที่ทำให้ระบบแสดงสัญญาณไฟเตือนเครื่องยนต์ แนะนำให้ทำการตรวจสอบเชิงลึกได้จากการต่อ OBD2 เพื่ออ่านค่า code จาก ECU เพื่อวิเคราะห์ต่อไป

Posted in การดูแลรถ, ความรู้เรื่องรถ, อื่นๆ | Tagged , | Leave a comment

8 เทคนิคขับรถให้สนุก ขับรถลดเครียด

งานวิจัยชี้ว่าหนึ่งในกิจกรรมที่สร้างความเครียดที่สุดอย่างหนึ่งก็คือ การขับรถ เพราะการขับรถนั้นต้องใช้ทั้งสมาธิและสติ ดังนั้นการจัดการความเครียดบนถนนจึงถือเป็นเรื่องสำคัญของตัวเราและเพื่อนร่วมทางบนท้องถนน แต่อย่างไรก็ตามการขับรถก็ไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องเครียดหรือน่าเบื่อเสมอไป จริงๆแล้วห้องเล็กๆแคบๆที่เรียกว่าห้องโดยสารนี้ นั้นเป็นได้มากกว่าห้องโดยสาร เราสามารถที่จะเปลี่ยนห้องนี้เป็นห้องพักส่วนตัวที่สงบ, ห้องสำหรับครอบครัวที่เราสามารถสนุกร่วมกัน รวมไปถึงเป็นพื้นที่สำหรับพักผ่อนก็ทำได้ ด้วย 8 เทคนิคง่ายๆดังต่อไปนี้

  • วางแผนก่อนการเดินทาง

มีหลายวิธีที่ช่วยลดความเครียดระหว่างขับรถ, ก่อนออกจากบ้านส่วนใหญ่เรารู้อยู่แล้วว่าวันนี้จะต้องเจอกับรถติดหรืออาจจะเดินทางไปถึงที่ทำงานสาย แค่นี้เราก็จะเริ่มรู้สึกเริ่มเครียดแล้ว ดังนั้น ถ้าเราสามารถหลีกเลี่ยงช่วงเวลาเร่งด่วน หรือลองเดินทางในช่วงเวลาที่ต่างกันเล็กน้อยในแต่ละวัน อาจจะออกจากบ้านก่อนหรือช้ากว่าปกติสัก 15-20 นาที ก็ช่วยลดความเครียดในการขับรถได้ไม่น้อย (ขึ้นอยู่กับว่าคุณไปที่ไหนด้วยนะ)

  • อย่าลืมตรวจเช็คเส้นทางและสภาพการจราจร

เพราะถนนบางสายอาจมีการปิดหรือซ่อมทาง รวมไปถึงเช็คสภาพการจราจรล่าสุดจาก Google maps หรือแอพฯอื่นในโทรศัพท์ก่อนด้วย

  • หมั่นดูแลตรวจสอบบำรุงรักษารถ

รถเสียระหว่างเดินทางก็ถือเป็นอีกเรื่องที่เครียดไม่น้อยสำหรับทุกคนที่ขับรถ แต่คุณสามารถลดโอกาสที่รถจะเสียฉุกเฉินนี้ได้โดยนำรถเข้าเช็คระยะตามกำหนดอยู่เสมอ รวมไปถึงการตรวจเช็ครถก่อนการเดินทางไกลด้วย

หรือถ้าคุณมีเวลา ก็ควรหมั่นคอยตรวจสอบระดับน้ำมันเครื่อง น้ำหม้อน้ำ น้ำล้างกระจกด้วยตัวเอง บางทีคุณอาจได้เจอกับแม่แรงติดรถโดยที่คุณไม่รู้มาก่อนว่ามันอยู่ตรงนั้น

  • อย่าขับในขณะที่กำลังโกรธหรืออารมณ์ไม่ปกติ

หลีกเลี่ยงที่จะขับรถเมื่อเหนื่อย,โกรธ หรือเมื่อมีเรื่องที่กระทบกระเทือนอารมณ์อย่างรุนแรงและกำลังเครียดอยู่ก่อนแล้ว ควรหยุดพักก่อนเพื่อชาร์จแบตสักพักถือเป็นทางที่ดีกว่า

  • ลองเปลี่ยนmind set เปลี่ยนมุมมองดูบ้าง

ความคิดหรือความรู้สึกลบๆนั้นมีแต่จะทำให้ขับรถยิ่งเครียด ถึงแม้ว่าการเปลี่ยนทัศนคติอาจจะไม่ใช่เรื่องง่ายๆที่จะเปลี่ยนได้ทันทีและต้องใช้เวลาก็ตาม แต่ก็เป็นสิ่งที่ควรจะทำ โดยพยายามเปลี่ยนมุมมองว่าการขับรถไม่ใช่เรื่องที่ต้องกดดัน พยายามทำความเข้าใจว่าอะไรทำให้รู้สึกเครียดและพยายามค่อยๆแยกปัญหาออกเป็นส่วนๆ

ถึงแม้ว่าบางทีปัญหาอาจจะมาจากรถคันอื่นที่ขับเข้ามารบกวนเรา แต่เราก็ไม่ควรจะปล่อยให้พฤติกรรมของพวกเขามาสร้างความเครียดเพิ่มให้กับเรา ให้ความคิดลบๆนั้นอยู่แค่กับพวกเขา พยายามทำใจให้กว้าง มองให้อยู่เหนือปัญหา เพราะพวกเขาเหล่านั้นก็แค่คนธรรมดาที่ต้องการจะเดินทางไปถึงที่หมายเหมือนกันกับเรา

  • กินขนมหรือเครื่องดื่มเบาๆก็ช่วยได้

ก่อนอื่น สิ่งที่สำคัญในเรื่องของการกินขนมหรือเครื่องดื่มระหว่างขับรถที่อยากจะเน้นย้ำก็คือ ถึงแม้ว่าจะไม่ใช่เรื่องที่ผิดกฎหมายโดยตรงแต่ก็อาจจะมีความผิดทางอ้อมได้ เพราะการดื่มหรือกินขนมระหว่างขับรถนั้นอาจจะทำให้เรามีความใส่ใจในการขับรถน้อยลงและอาจจะเป็นอันตรายต่อเพื่อนร่วมทางคันอื่นด้วย และท้ายที่สุดคุณก็อาจจะถูกปรับหรือโดนใบสั่งได้

แต่การกินขนมหรือเครื่องดื่มก็ถือเป็นอีกวิธีที่ช่วยเพิ่มความสุขขณะขับรถได้ โดยเฉพาะเมื่อรถติด เพราะการกินขนมเบาๆเพื่อสุขภาพจะช่วยดึงภวังค์คุณออกจากเรื่องรถติดและทำให้คุณรู้สึกดีขึ้นได้

นอกจากนี้ถ้ามีผู้โดยสารคนอื่นร่วมเดินทางและกินขนมไปกับคุณด้วยก็จะยิ่งช่วยสร้างบรรยากาศมากยิ่งขึ้น และถ้าผู้โดยสารเป็นเด็กๆ บรรยากาศก็จะยิ่งสนุกมากขึ้นไปอีก แต่ในทางกลับกันถ้าเราต้องขับรถโดยที่ยังหิวหรือกระหายน้ำ สถานการณ์จะกลายเป็นอีกเรื่องที่ไม่สนุกเลยทีเดียว

  • อย่าหยุดแค่การฟังเพลง

รถในปัจจุบันนี้แทบทุกคันจะมีวิทยุหรือเครื่องเล่นCD/MP3ติดรถอยู่แล้ว แต่การเลือกสิ่งที่คุณจะฟังนั้นส่งผลต่อความรู้สึกของคุณได้อย่างมากเลยทีเดียวระหว่างการขับรถ

หลายๆคนคงเลือกที่จะฟังเพลง และถึงแม้การฟังเพลงจะช่วยผ่อนคลายอารมณ์ แต่เราอยากให้คุณคิดนอกกรอบออกไปอีก ทำไมไม่ลองมาเปลี่ยนมาฟังจาก Audio books ทาง CD หรือ MP3 ดูบ้าง เพราะถ้าเราได้ฟังหนังสือเสียงดีๆจะช่วยให้เราฆ่าเวลาและดึงเราออกจากความคิดเรื่องรถติดได้

ถ้าขับรถไปส่งเด็กๆไปโรงเรียน หนังสือสำหรับครอบครัวอย่างเช่น แฮรี่ พอตเตอร์ ก็สามารถดึงเด็กๆให้รู้สึกสนุกและทำให้พวกเขาลืมไปว่าเรากำลังติดแหงกอยู่บนถนนได้ ต่อจากนี้ช่วงเวลาที่รถติดในชั่วโมงเร่งด่วนจะกลายเป็นช่วงเวลาที่ทุกคนสนุกเมื่อทุกกคนรู้ว่ากำลังมีหนังสือเสียงเล่มใหม่รอคอยอยู่

แต่อย่าหยุดแค่หนังสือเสียงที่เป็นนิยายหรือเพื่อความบันเทิง คุณยังสามารถลองหนังสือเสียงอื่นๆที่เพื่อพัฒนาตนเองได้ เช่น หนังสือเสียงในการฝึกภาษา และหนังสือ how to อื่นๆ อีกมากมาย

  • ลองขับไปทางอื่นดูบ้าง

ด้วยเทคโนโลยีด้าน navigator และ GPS ทุกวันนี้ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีที่จะแสดงถนนได้เกือบทุกสายและสามารถนำทางคุณไปสู่จุดหมายที่ต้องการได้ ถึงแม้การเดินทางในเส้นทางอื่นนอกจากเส้นทางที่คุณคุ้นเคยอาจจะไม่ใช่ไอเดียที่ดี แต่การเดินทางในเส้นทางอื่นอาจพาให้คุณได้เจอกับเส้นทางลัดสายใหม่และอาจได้พบเจอสิ่งน่าสนใจอื่นๆระหว่างแทนเส้นทางซ้ำๆเดิมๆน่าเบื่อก็ได้ เพราะอย่างน้อยคุณก็ได้เห็นวิวข้างทางใหม่ๆหรืออาจจะได้พบร้านอาหาร/ของกินใหม่ๆ ถึงแม้ว่าเส้นทางใหม่อาจจะไม่ตื่นเต้นหรือดีกว่าเส้นทางเดิมประจำของคุณก็ตาม

 

Posted in การใช้งานรถ | Tagged , , | Leave a comment

4 อาการรถดับกลางอากาศ

เมื่อรถดับกลางอากาศหรือขณะรอบเดินเบา จะมีแนวทางในการวิเคราะห์ได้หลายสาเหตุ แต่ต้นเหตุส่วนใหญ่มักจะมาจากระบบระบบน้ำมันเชื้อเพลิง, ระบบไอดี หรือระบบไฟชาร์จ

แต่เราสามารถจำแนกลักษณะอาการที่รถดับกลางอากาศได้ 4 ลักษณะดังต่อไปนี้

  1. ปัญหารถดับจากระบบไฟชาร์จ

ปัญหาจากระบบไฟชาร์จ เป็นหนึ่งในต้นเหตุที่พบได้บ่อยเมื่อรถกระตุกดับ โดยจะตรวจสอบง่ายๆจากสัญญาณไฟเตือนหน้าปัดรถเมื่อระบบไฟชาร์จมีปัญหา เช่น สัญญาณไฟเตือนแบตเตอรี่, สัญญาณไฟเตือนไฟชาร์จ, ไฟเตือนเครื่องยนต์ เป็นต้น รวมไปถึงเรายังสามารถตรวจสอบระบบไฟชาร์จได้ด้วยโวลต์มิเตอร์ ถ้าวัดไฟได้น้อยกว่า 12 โวลต์ หรือแอมป์มิเตอร์เมื่อวัดค่ากระแสได้น้อยๆ

โดยปัญหาไฟเตือนจากระบบไฟชาร์จนั้นอาจจะเกิดจากอุปรณ์/ชิ้นส่วนทางไฟฟ้าที่ทำงานผิดปกติเพียงตัวเดียวหรือหลายตัวก็เป็นได้เพราะสัญญาณไฟเตือนนี้กำลังบอกให้เรารู้ว่าระบบไฟชาร์จไม่สามารถผลิตกระแสไฟฟ้าเพียงพอสำหรับแบตเตอรี่และวงจรไฟฟ้าอื่นๆให้ทำงานได้อย่างปกติ โดยสาเหตุส่วนใหญ่นั้นมักมาจากตัวไดชาร์จเองหรือไม่ก็ตัวควบคุมแรงดันไฟฟ้า (voltage regulator) เมื่อระบบชาร์จไฟของรถไม่สามารถทำงานได้ เรายังอาจจะขับรถต่อไปได้อีกประมาณ 30 นาที (โดยมีเงื่อนไขว่าแบตเตอรี่ต้องอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ดี) แต่เมื่อไฟหมดเกลี้ยงแบตเตอรี่ เราจะไม่สามารถสตาร์ทเครื่องยนต์ได้อีก

ในรถบางรุ่น, ระบบไฟชาร์จอาจจะถูกควบคุมด้วย ECU รถ ดังนั้นกรณีนี้ระบบไฟชาร์จจะส่งสัญญาณเป็นโค๊ดแจ้งเตือนออกมา ซึ่งโค๊ดนี้จะช่วยให้เราสามารถวิเคราะห์สาเหตุของปัญหาต่อไปได้ โดยใช้ตัวอ่าน OBD 2 ในการ download โค๊ดสัญญาณ อย่างไรก็ตาม ถ้าไฟเตือนเครื่องยนต์ไม่โชว์ แนวทางการวิเคราะห์ให้ตรวจเช็คอุปกรณ์ดังต่อไปนิ้

  • ตรวจสอบสภาพภายนอกตัวแบตเตอรี่ว่ามีความเสียหายหรือไม่
  • ตรวจสอบขั้วและสายไฟของแบตเตอรี่ ว่ามีสนิม/ขี้เกลือที่ขั้วแบต หรือสายหลุด/หลวมหรือไม่? เพราะล้วนส่งผลให้การชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ไม่สมบูรณ์ไม่เสถียร ถ้าสภาพขั้วและสายไฟไม่พบความผิดปกติ ก็อาจจะมีสาเหตุมาจากตัวแบตเตอรี่เองที่อาจจะเสียหรือเสื่อมสภาพไปแล้ว
  • ตรวจสอบสายพาน เพราะสายพานที่หลวมหรือสึกก็ส่งผลให้ไดชาร์จชาร์จไฟเข้าแบตเตอรี่ไม่ดีเช่นกัน ให้ทำการตรวจสอบสภาพสายพาน ปรับตั้ง และตรวจสอบพูลเล่เพื่อให้ได้ศูนย์ (alignment)
  • ตรวจสอบวงจรไฟชาร์จ รวมถึงสายไฟ ขั้วต่อ ฟิวส์ และจุดเชื่อมต่ออื่นๆ
  • ทำการตรวจสอบการทำงานของตัวควบคุมแรงด้นไฟฟ้า (voltage regulator) และไดชาร์จ ว่าทำงานปกติหรือไม่
  1. เมื่อรถดับทั้งระบบไฟและเครื่องยนต์ขณะกำลังขับ

ถ้าคุณสังเกตพบว่าทุกๆครั้งที่ขับรถผ่านลูกระนาดหรือเมื่อเลี้ยวหักศอก จู่ๆระบบวิทยุ ไฟส่องสว่าง และเครื่องยนต์ก็จะดับไปเอง หลังจากนั้นไม่กี่นาที ทั้งเครื่องยนต์และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆก็จะกำลับมาทำงานได้อีกครั้ง ดูผิวเผินดูเหมือนน่าจะเป็นอาการเสียที่หนัก แต่แนวทางการซ่อมแก้ไขนั้นง่ายมากๆดังต่อไปนี้

  • ใส่เบรคมือ สตาร์ทเครื่องและรอจนรอบเดินเบา
  • เปิดฝากระโปรง
  • ขยับหรือกระดิกสายแบตเตอรี่ รวมถึงสายไฟเส้นเล็กที่ต่อกับตัวถังรถ (ถ้ามี)
  • สังเกตุการทำงานของเครื่องยนต์และระบบไฟ ถ้าเครื่องยนต์ดับและไฟหน้าดับทุกครั้งที่กระตุกหรือขยับสายไฟ แสดงว่ามีสาเหตุมาจากขั้วสายไฟที่หลุดหลวม หรือปัญหาจากสนิมรวมไปถึงขั้วสาย/สายไฟที่เสื่อมสภาพ ให้ทำการซ่อมหรือเปลี่ยนสาย/ขั้วสายใหม่

นอกจากสาเหตุจากตัวขั้วสาย/สายไฟแล้ว สาเหตุอื่นๆทีเป็นไปได้ เช่น

  • รูกุญแจสึกหรือเสื่อมสภาพ(เสีย) ถ้ามาจากสาเหตุนี้ ไฟหน้าจะยังคงติด
  • ฟิวส์ขาดหรือฟิวส์หลอมละลาย ถ้าเกิดจากสาเหตุนี้ ระบบไฟและอุปกรณ์อื่นๆจะยังคงทำงาน แต่อาจจะไม่สามารถสตาร์ทรถใหม่ได้
  1. เมื่อเครื่องดับหลังจากติดเครื่องไม่กี่นาที

หลังจากสตาร์ทรถและขับไปได้ไม่กี่นาทีเครื่องยนต์ก็ดับ และจะไม่สามารถสตาร์ทใหม่ได้จนกว่าเครื่องจะเย็น อีกทั้งเครื่องก็จะดับอีกครั้งหลังจากขับต่อไปได้อีกไม่กี่นาที ในขณะที่ระบบไฟ วิทยุและอุปกรณ์ไฟฟ้าอื่นๆยังคงทำงานได้ปกติ ถ้ามีอาการลักษณะแบบนี้ ต้องตรวจสอบอุปกรณ์ดังต่อไปนี้

  • ตรวจเช็คการทำงานของคอยล์จุดระเบิด
  • ตรวจเช็คการทำงานของโมดูลจุดระเบิด
  • ตรวจเช็คการทำงานของเซ็นเซอร์ตรวจจับตำแหน่ง crankshaft (CKP sensor)
  • ตรวจเช็คการทำงานของมอเตอร์ปั๊มติ๊ก

เพราะสาเหตุอาจเกิดจากคอยล์จุดระเบิด และชิ้นส่วนอิเล็กโทรนิกส์ในโมดูลจุดระเบิดหรือมอเตอร์เกิดการ open circuit ซึ่งระบบไม่แสดงอาการใดๆจนกว่าชิ้นส่วนหรืออุปกรณ์นั้นๆจะเริ่มทำงานและมีอุณหภูมิสูงขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ขดลวดข้างในเกิดการขยายตัว(ด้วยความร้อน)และทำให้วงจร open circuit ในส่วนของขั้นตอนการทดสอบว่าเซ็นเซอร์ crankshaft หรือคอยล์จุดระเบิดมีการ open circuit หรือไม่ มีดังนี้

1) ถ้าสามารถถอดเซ็นเซอร์หรือคอยล์จุดระเบิดออกจากรถได้ ควรถอดออกมาก่อน

2) วัดค่าความต้านทาน(R)ของเซ็นเซอร์ หรือค่าความต้านทานของคอยล์จุดระเบิดหลักและคอยล์จุดระเบิดรอง

3) เปรียบเทียบค่าที่วัดได้กับใน spec ตามคู่มือรถ

4) ใช้เครื่องเป่าลมร้อนหรือไดร์เป่าผมเป่าด้วยระดับความร้อนปานกลาง

5) ทำการวัดค่าความต้านทานตามข้อ 2 อีกครั้ง

6) ถ้าค่าที่วัดได้ต่างจากค่าในคู่มือ หรืออ่านค่าได้เป็นเป็นอนันต์ (¥) ให้ทำการเปลี่ยนเซ็นเซอร์หรือคอยล์จุดระเบิดใหม่

 

  1. เมื่อเครื่องดับขณะกำลังจะหยุดรถ

ถ้ารถกระตุกเมื่อใกล้จะหยุดรถหรือเมื่อรอบเดินเบา ถือเป็นสัญญาณบอกว่าโซเลนอยด์ควบคุมปริมาณอากาศ (IAC) มีปัญหา เพราะโดยปกติ ECUรถจะสั่งการโซเลนอย์ IAC เพื่อควบคุมวาล์วลิ้นผีเสื้อในการควบคุมปริมาณอากาศเข้าสู่เครื่องยนต์ให้สอดคล้องกับสภาวะการทำงานของเครื่องยนต์ โดยสาเหตุส่วนใหญ่ของปัญหาที่พบจะเป็นการอุดตันในช่องทางเดินของอากาศ และตัววาว์ล IAC เอง ที่มีคราบสกปรกจากตะกอนน้ำมันที่สะสม ส่งผลให้อากาศไม่สามารถไหลผ่านได้ ผลก็คือเครื่องยนต์กระตุกดับเมื่อใกล้จะหยุดรถหรือเมื่อรอบเดินเบา ส่วนการตรวจสอบว่าช่องทางเดินอากาศมีการอุดตันมีขั้นตอนดังต่อไปนี้

  • ตำแหน่งของโซเลนอย์ IAC จะอยู่แถวๆวาล์วลิ้นผีเสื้อ
  • ถอดปลั๊กโซเลนอยด์ IAC ออกจากขั้วต่อ
  • ถอดโซเลนอยด์จากตัวเรือนวาล์ว
  • ตรวจสอบช่องทางเดินอากาศว่ามีคราบเขม่าน้ำมันหรือไม่ และทำความสะอาด

นอกจากการIACอุดตันแล้ว ปัญหาจากตัวมอเตอร์ IAC เสียเองก็มีทางเป็นไปได้เช่นกัน โดยมีแนวทางทดสอบดังนี้

  •  ถอดโซเลนอยด์ IAC ออกจากตัววาว์ลลิ้นปีกผีเสื้อ
  • ต่อโซเลนอย์กับแบตเตอรี่รถโดยใช้สาย jumper
  • ถ้าโซเลนอยด์ไม่มีการตอบสนองใดๆ ให้ทำการเปลี่ยนตัวใหม่

หมายเหตุ : นอกจากนี้ IAC มอเตอร์ยังสาสามารถเช็คได้ด้วย โอห์มมิเตอร์ (ถ้าจะเช็คให้ตรวจสอบกับคู่มือรถอีกครี้ง)

Posted in การดูแลรถ, การใช้งานรถ, อื่นๆ | Tagged | Leave a comment

7 เหตุผลที่ทำให้แคตตาไลติกกลับบ้านเก่าก่อนกำหนด

รถยนต์ในปัจจุบันทุกรุ่นทุกยี่ห้อล้วนมีการติดตั้งอุปกรณ์ที่เรียกว่า “แคตตาไลติก คอนเว็ตเตอร์” (ต่อไปนี้ขอเรียกสั้นๆว่า “แคตฯ”นะครับ)อยู่เป็นอุปกรณ์พื้นฐานประจำตัวรถไปแล้ว โดยแคตฯจะทำหน้าที่เปลี่ยน/สลาย/ลดสารพิษในแก๊สไอเสีย 3 ตัว ได้แก่ ไนโตรเจนออกไซต์, คาร์บอนมอนอกไซต์และส่วนผสมของไฮโดรคาร์บอน ซึ่งแคตฯจะช่วยเปลี่ยนรูปสารพวกนี้เป็นคาร์บอนไดออกไซต์,ไนโตรเจนและน้ำด้วยการใช้ปฏิกิริยาทางเคมีที่ความร้อนสูงๆ รวมถึงเพื่อเผาไหม้ตะกอนและเขม่าต่างๆ อันเป็นการล้างทำความสะอาดตัวแคตฯเองภายในอย่างอัตโนมัติไปด้วย แต่ด้วยแคตฯเป็นอุปกรณ์ที่ต้องทำงานภายใต้ความร้อนที่ค่อนข้างสูงตลอดๆ โดยถ้าความร้อนนี้ถ้าเพิ่มสูงขึ้นเรื่อยๆจนถึงจุดๆหนึ่งก็สามารถทำลายตัวแคตฯเองได้เช่นกัน ดังนั้นผมขอสรุป 7 เหตุผลใหญ่ๆที่ทำให้แคตฯกลับบ้านเก่าก่อนกำหนดมาฝากครับ

  • น้ำมันที่เผาไหม้ไม่หมดหรือเขม่า/ตะกอนใดๆก็ตามที่หลุดเข้าสู่ตัวแคตฯ นอกจากจะทำให้เกิดการอุดตันที่ตัวแคตฯได้แล้ว ยังส่งผลให้ความร้อนในแคตฯเพิ่มสูงขึ้นจนเกินควบคุมได้ โดยความร้อนที่สูงมากเกินไปนี้ก็จะไปหลอมละลายแผงรังผึ้ง สร้างรอยแตกรอยร้าวและส่งผลให้แคตฯสั่น ส่วนอาการภายนอกก็คือเครื่องยนต์ไม่มีกำลัง กินน้ำมัน เครื่องร้อน(Overheat) และมีไฟเตือนเครื่องยนต์โชว์ที่หน้าปัดรถครับ
  • เมื่อน้ำหม้อน้ำรั่วจากประเก็นท่อร่วมไอดี โดยส่วนใหญ่มักจะถูกดูดไหลเข้าสู่เครื่องยนต์ ทำให้สารเคมีในน้ำหม้อน้ำปนเปื้อนกับตัวเร่งปฏิกิริยาที่แคตฯอย่างรวดเร็วและส่งผลให้แคตฯเริ่มเสี่อม ทางป้องกันง่ายๆก็คือหมั่นคอยตรวจสอบหาระดับน้ำหม้อว่ามีการพร่องไปหรือไม่อยู่เสมอ ก็จะช่วยป้องกันปัญหานี้ได้ตั้งแต่เนิ่นๆ
  • การเลือกใช้น้ำมันเครื่องผิดเบอร์ก็อาจส่งผลเสียต่อแคตฯได้เช่นกันครับ เพราะน้ำมันเครื่องที่หนืดเกินไปจะทำให้เกิดไอระเหยของน้ำมันมากขึ้นด้วย ซึ่งไอระเหยนี้เมื่อจับรวมตัวกับน้ำมันแล้ว จะถูกเผาไหม้ไม่หมดเกิดเป็นตะกอน/เขม่าที่จะหลุดเข้าสู่แคตฯพร้อมกับไอเสีย โดนตะกอนที่ไม่เผาไหม้นี้เองที่จะทำให้อุณหภูมิภายในแคตฯสูงขึ้นเรื่อยๆจนสร้างความเสียหายให้กับตัวแคตฯ
  • การเปลี่ยนน้ำมันเครื่องที่ช้ากว่ากำหนดนอกจากจะทำให้รถกินน้ำมันมากขึ้นแล้ว ยังลดประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และยังส่งผลให้น้ำมันหลุดเข้าสู่ระบบท่อไอเสียทำลายแคตฯได้ด้วยเช่นกันครับ (เนื่องจากโครงสร้างของแคตฯไม่เหมือนลูกสูบเครื่องยนต์ที่สามารถรองรับแรงระเบิดจากการเผาไหม้น้ำมันส่งต่อไปยังกลไกต่างๆในเครื่องยนต์ได้ เพราะเมื่อน้ำมันมาเผาไหม้ที่แคตฯ พลังงานจากการเผาไหม้น้ำมันนี้จะถูกส่งออกมาปะทะที่ตัวแคตฯโดยตรงทำลายตัวแคตฯนั่นเอง)
  • พฤติกรรมการขับขี่ที่ความเร็วต่ำในระยะทางสั้นๆหลายๆครั้งก็เป็นสาเหตุให้แคตฯเสื่อมสภาพได้เช่นกันครับ เพราะแคตฯต้องการพฤติกรรมการขับขี่ที่มีความเร็วและมีระยะทางในระดับหนึ่งเพื่อให้มากพอจะเร่งถึงอุณหภูมิที่เหมาะสม ในการที่ตัวมันเองจะเผาไหม้ตะกอนต่างๆและ regenerate ตัวเร่งปฏิกิริยาได้ ถ้ารถที่ไม่ค่อยได้ขับหรือขับระยะทางสั้นๆขับแบบรถติดๆบ่อยๆอาจจะส่งผลให้แคตฯเสื่อมเร็วกว่าปกติได้ด้วยเช่นกัน
  • การขับรถลุยน้ำก็เป็นอีกสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยที่ทำให้เคตฯเสียได้ครับ เพราะปกติแคตฯจะทำงานที่ความร้อนสูงๆอยู่แล้ว ดังนั้นเมื่อเราขับรถลุยน้ำที่ท่วมสูงก็เท่ากับเราเอาแคตฯจุ่มลงไปในน้ำเย็นๆทันที(ทั้งๆที่แคตฯนั้นร้อนอยู่) ส่งผลให้ชิ้นส่วนภายในแคตฯได้รับความเสียหาย เพราะเกิดการหดตัวอย่างรวดเร็ว ทำให้แผงรังผึ้งในแคตฯเกิดการร้าวหรือแตกได้
  • ไฟเตือนเครื่องยนต์อย่ามองข้าม ออกซิเจนเซ็นเซอร์และไฟเตือนรถยนต์ ถือเป็นสองอุปกรณ์ที่สำคัญอย่างยิ่งในการดูแลรักษาแคตฯ เพราะออกซิเจนเซ็นเซอร์จะช่วยรักษาส่วนผสมของอากาศกับน้ำมันในเครื่องยนต์ให้ถูกต้องเหมาะสม ส่งผลให้ไม่มีน้ำมันส่วนเกินหลุดไปเผาไหม้ที่แคตฯ นอกจากนี้ออกซิเจนเซ็นเซอร์ยังทำหน้าที่ตรวจสอบประสิทธิภาพการทำงานของแคตฯ โดยเมื่อแคตฯมีปัญหา ออกซิเจนเซ็นเซอร์ก็จะส่งสัญญาณเป็นไฟเตือนเครื่องยนต์ที่หน้าปัด

ผู้ผลิตรถยนต์และแคตฯส่วนใหญ่จะรับประกันอายุของแคตฯที่ประมาณ 100,000 กิโลเมตร หรืออย่างมากสุดที่ประมาณ 8 ปีเท่านั้น(สำหรับบางค่ายรถ) แต่อย่างไรก็ตาม เมื่อว่ากันตามทฤษฎีแล้ว แคตฯถูกออกแบบให้มีอายุการใช้งานยาวนานกว่าอายุของตัวรถด้วยซ้ำ ถ้าคอยเฝ้าระวังดูแลแคตฯตาม 7 ข้อข้างบน ผมเชื่อแน่ๆว่าแคตฯรถคุณจะไม่กลับบ้านเก่าก่อนตัวรถแน่นอนครับ

Posted in การดูแลรถ, ความรู้เรื่องรถ | Tagged , , | Leave a comment

3 เทคนิคการตรวจสอบก่อนซื้อรถมือสอง

ตรวจสอบว่าเคยประสบอุบัติเหตุหนักมาก่อนหรือไม่

  • ตรวจสอบร่องรอยการทำสีรถ ถ้ามีการทำสีจากรอยเฉี่ยวชน รอยถากต่างๆแบบนี้ถือว่ารับได้ แต่ถ้าเป็นรถที่เคยประสบอุบัติเหตุหนัก จะตรวจสอบพบว่าจะมีการทำสีในจุดที่ไม่ควรจะทำสี เช่น ภายในห้องเครื่อง รอยต่อของคานหน้า/ตัวถัง บริเวณที่เก็บยางอะไหล่ เป็นต้น
  • คานหน้าไม่ควรมีการทำสี ไม่ควรมีร่องรอยการเคาะพ่นสีหรือเคยเปลี่ยนมาก่อน
  • น็อตยึดกับตัวถังก็ไม่ควรดูใหม่ ควรมีสภาพความเก่าใกล้เคียงกับห้องเครื่อง และไม่ควรมีร่องรอยการถอดหรือทำสีที่หัวน็อต
  • สติกเกอร์ต่างๆในห้องเครื่องก็ควรดูหมอง มีสภาพกลมกลืนกับห้องเครื่อง ไม่ควรดูใหม่
  • ตรวจสอบประวัติการขับขี่กับบริษัทประกันภัย

ตรวจสอบสภาพเครื่องยนต์/อุปกรณ์ต้องสอดคล้องกับเลขไมล์

  • ห้องเครื่องและห้องโดยสาร ควรมีความใหม่เก่าสอดคล้องกับอายุการใช้งาน อะไหล่หรือชิ้นส่วนแต่ละอย่างต้องมีความใหม่เก่าสอดคล้องกับอายุรถ
  • ตรวจสอบว่าไม่มีอาการผิดปกติหรืออาการเสียเรื้อรังซ่อนอยู่ เมื่อสตาร์ทแล้วไม่ควรมีไฟสัญญาณที่ผิดปกติโชว์ขึ้นมา ไม่ควรมีเสียงหรือกลิ่นที่ผิดปกติ เครื่องต้องไม่สั่นจนผิดสังเกต ตลอดจนทดลองเปิดแอร์ เปิดไฟ บีบแตร และอุปกรณ์ไฟฟ้าต่างๆเพื่อทดสอบการทำงานด้วย
  • ก่อนขับก็ควรตรวจสอบ เสียงเครื่องยนต์ รวมถึงใต้ท้องรถว่ามีน้ำยาอะไรหยดหรือไม่ ตลอดจนควันและเสียงจากท่อไอเสีย
  • เมื่อทดลองขับรถ ก็ควรเข้าเกียร์ต่างๆให้ครบ ทั้งเดินหน้า ถอย เกียร์ว่าง และเกียร์ต่ำ รอบเครื่องต้องไม่ผิดปกติ

หาข้อมูลปัญหาที่มักพบเจอบ่อยๆในรถ/รุ่นที่สนใจจะซื้อ

  • ควรศึกษาข้อมูลมาก่อนว่ารถรุ่นี้มีปัญหาในการใช้งานอะไรที่พบเจอบ่อยๆ มีอุปกรณ์ใดที่มักจะเสียบ่อยๆ มีวิธีการสังเกตุและตรวจสอบอย่างไร โดยศึกษาจาก web board ต่างๆหรือจากคนเคยใช้งานจริง
  • ตรวจสอบประวัติการซ่อมกับศูนย์บริการ เลขไมล์ และข้อมูลอื่นๆ โดยอ้างอิงจากเลขทะเบียนรถ เลขตัวถัง และชื่อเจ้าของ

Posted in การดูแลรถ, ความรู้เรื่องรถ | Tagged | Leave a comment